CONTENT VIEW

นมวัว...หนูกลัวแล้ว


“อาการของเด็กแพ้นมวัวนั้นบางครั้งก็สังเกตได้ยากเพราะมีอาการได้หลายระบบ และมีอาการคล้ายกับโรคอื่น  ซึ่งอาจทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคผิดได้”

 

ลูกคุณแม่เสี่ยงแพ้นมวัวแค่ไหน

คุณพ่อหรือคุณแม่มีประวัติโรคภูมิแพ้  เช่น แพ้อากาศ แพ้อาหาร อาการหอบ

ลูกคนก่อนเคยมีประวัติแพ้นมวัว

คุณแม่ดื่มนมวัวมากเป็นพิเศษระหว่างตั้งครรภ์

คุณแม่ดื่มนมวัวเป็นประจำขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ลูกดื่มนมวัวตั้งแต่แรกเกิด

ลูกได้รับนมแม่ในระยะสั้น

ลูกปวดท้องร้องกวนแบบโคลิก

ลูกมีอาการป่วยแบบเป็นๆ หายๆ ท้องเสียเรื้อรัง

 

            “แย่แล้ว...ลูกของฉันแพ้นมวัวหรือนี่”  คำพูดนี้แม่ๆ หลายคนอาจไม่อยากแม้แต่จะคิดว่าในความเป็นจริงลูกของตนเองนั้นมีความเสี่ยงแพ้นมวัวมากน้อยแค่ไหน คนไข้เด็กบางรายพ่อแม่พามาหาหมอด้วยอาการท้องเสียเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการแหวะนมอยู่เรื่อยๆ  ซึ่งในภายหลังพบว่าสาเหตุที่แท้จริงคือ “ลูกของคุณแพ้นมวัว” นั่นเองค่ะ อาการของเด็กแพ้นมวัวนั้นบางครั้งก็สังเกตได้ยากเพราะมีอาการได้หลายระบบ และส่วนใหญ่อาการดังกล่าวอาจทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคผิดก็เป็นได้

            การแพ้นมวัวนั้นส่วนใหญ่เรามักจะพบได้ในช่วงวัยทารก โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนที่แพ้นมวัวตั้งแต่เด็กนั้นจะแพ้ไปจนโต แต่อาการจะดีขึ้นจนหายขาดเมื่อเด็กโตขึ้นและสามารถกลับมาดื่มนมวัวได้เหมือนเช่นคนปกติทั่วไป ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยแพ้นมวัวหายช้านั้น ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมกับอาการทางผิวหนังหรือทางเดินอาหาร ในผู้ป่วยที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ ผู้ที่แพ้อาหารอย่างรุนแรง แพ้อาหารหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง  ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหืด เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และผื่นผิวหนัง เป็นต้น

 

รู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว

            อย่างที่หมอบอกไปแล้วว่าอาการ “แพ้นมวัว” นั้นสังเกตได้ยากเพราะอาการจะเหมือนกับเป็นโรคนั้นโรคนี้ จึงทำให้มีการวินิจฉัยโรคผิดกันมาแล้ว ซึ่งการวินิจฉัยที่ถูกทางจะทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นค่ะ โดยมากอาการแพ้นมวัวมักเป็นในเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 1 ปี ทั้งนี้เราสามารถจัดแบ่งกลุ่มอาการเป็น 3 ระบบหลัก ได้แก่

 

ระบบผิวหนัง

             อาการที่แสดงให้เห็น เช่น ขึ้นผื่น ลมพิษ ผื่นแพ้ผิวหนังชนิดแห้งและลอก เป็นต้น เป็นกลุ่มอาการที่พบมากที่สุด โดยอาการทางผิวหนังจะเกิดขึ้นหลังดื่มนมไปแล้วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงจนถึงเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับลักษณะของผื่น

 

ระบบทางเดินอาหาร

             สำหรับอาการแสดงในระบบทางเดินอาหารนั้นส่วนใหญ่จะมีอาการท้องเสียเรื้อรัง โดยมีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการท้องผูก จึงทำให้วินิจฉัยได้ยาก เพราะอาการอาจเป็นเรื้อรังและไม่ได้เป็นทันทีหลังจากดื่มนมเข้าไปก็ได้ค่ะ

 

ระบบอื่น

             ส่วนอาการแสดงในระบบอื่น คืออาการแพ้รุนแรง มีอาการเกิดขึ้นในหลายระบบพร้อมกัน สามารถวินิจฉัยอาการได้ง่าย โดยจะเกิดอาการหลังจากดื่มนมวัวภายใน 1-2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ได้แก่ เป็นผื่น หายใจไม่ออก อาเจียน ความดันต่ำ และอาจช็อกหมดสติ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) และถ้าไม่รักษาให้ทันท่วงทีก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ค่ะ

 

สาเหตุที่ลูกแพ้นมวัว

            อาการแพ้นมวัวนั้นเราพบว่าสาเหตุเด่นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ก็คือ “พันธุกรรม” โดยเฉพาะเด็กที่มีพ่อแม่เป็นภูมิแพ้ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้แบบไหนก็ตาม เพราะอาการนี้ถ่ายทอดมาทางสายเลือด ส่วนสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ การถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้อยู่เป็นประจำ เช่น ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ดื่มนมวัวมากเกินกว่าปกติ ทำให้ลูกในท้องมีโอกาสที่จะแพ้ได้ง่ายค่ะ

 

ดูแลอย่างไรเมื่อลูกแพ้นมวัว

             หลังจากที่คุณแม่ทราบแน่แล้วว่าลูกแพ้นมวัว สิ่งที่คุณแม่ต้องทำต่อไปคือ ดูแลลูกให้ห่างจากนมวัวทุกกรณี  ต้องเลี่ยงนมวัวโดยถ้ายังให้นมแม่ได้อยู่ก็ให้ดื่มนมแม่ (คุณแม่เองก็งดนมวัวหรืออาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวด้วยนะคะ) แต่ถ้าเลิกให้นมแม่แล้วก็ให้ดื่มนมเสริมชนิดที่ใช้ดื่มทดแทนนมวัวค่ะ

ส่วนการให้ยานั้นเหมาะสำหรับภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง ในกรณีที่แพ้อาหารหรือแพ้นมวัวหมอไม่แนะนำให้รับประทานยาแก้แพ้นะคะ เพราะพ่อแม่เด็กส่วนใหญ่จะขอยาแก้แพ้ไว้ให้ลูกรับประทานป้องกันเพื่อให้รับประทานอาหารชนิดนั้นๆ ได้ ซึ่งหมอจะบอกไปว่ายาแก้แพ้ค่อนข้างไม่มีประโยชน์สำหรับเรื่องการแพ้อาหารหรือแพ้นมวัว การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้เท่านั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ

 

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการแพ้นมวัว

            เคยได้ยินไหมคะกับความเชื่อที่ว่า “รับประทานอาหารทีละน้อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเอง” นี่เป็นความเชื่อที่ผิดนะคะ เพราะการรับประทานทีละน้อยๆ แบบนี้มันเหมือนเป็นการสะสม จะทำให้ร่างกายแพ้รุนแรงมากขึ้น เช่น เดิมทีอาจแพ้โดยมีอาการทางผิวหนังอย่างเดียว แต่พอคุณแม่ให้รับประทานทีละนิดไปเรื่อยๆ อาจทำให้ลูกแพ้ถึงขั้นช็อกได้ เพราะหลักการของผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้คือ ร่างกายจะไวต่อสิ่งกระตุ้น แล้วถ้ายิ่งได้รับสิ่งที่แพ้ไปก็จะยิ่งไปกระตุ้นอาการแพ้ให้เป็นมากขึ้นค่ะ

            กรณีแบบนี้หมอจะแนะนำคนไข้ว่าวิธีแก้ที่ดีสำหรับเรื่องแพ้นมวัวหรือแพ้อาหารคือ เราต้องทำให้ร่างกายลืมว่าเคยแพ้อะไร เช่น ถ้าลูกแพ้นมวัว ลองให้ลูกหยุดดื่มนมวัวไปสัก 3-5 ปี อาการแพ้นมวัวหรือแพ้อาหารก็จะหาย และสามารถกลับมาดื่มนมวัวได้ แต่อาหารบางชนิดอย่างเช่นถั่วอาจแพ้ตลอดชีวิตโดยไม่สามารถหยุดรับประทานให้หายแพ้ได้ ดังนั้นระยะเวลาในการงดอาหารแต่ละชนิดจึงแตกต่างกันค่ะ

 

วิธีการรักษาเมื่อลูกแพ้นมวัว

            การรักษาโดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะรักษาร่วมกับการรักษาด้านโภชนาการโดยมีหลักว่า ให้อาหารที่ไม่มีนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว และโปรตีนจากนมวัว ให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย รักษาภาวะ      ทุพโภชนาการอย่างเหมาะสม (ถ้าผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวร่วมด้วย) หลังจากเด็กมีอายุครบ 1 ปี และอาการหายดีแล้วอย่างน้อย 6 เดือน อาจพิจารณาทดสอบด้วยการรับประทานอาหารหรือเรียกว่าการทำ oral food challenge test ทุก 6 เดือน และติดตามประเมินภาวะโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กทุก 3-6 เดือน

            นอกจากหลีกเลี่ยงนมวัวและอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวแล้ว การรักษาโดยทั่วไปคือ กรณีที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้นมผสม ก็ให้นมแม่ต่อไป แต่แม่จะต้องงดนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว และอาหารที่มีโปรตีนจากนมวัว โดยระหว่างนี้ต้องดูแลแม่ไม่ให้ขาดแคลเซียมด้วยค่ะ ซึ่งปกติแล้วแม่ควรได้รับแคลเซียมจากอาหารประมาณ 800 มก./วัน หากแม่ไม่ได้รับแคลเซียมเพียงพอก็สามารถให้ยาเม็ดแคลเซียมที่ไม่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบโดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งให้รับประทานยาตามความเหมาะสมค่ะ ด้านเด็กเองก็ต้องได้รับแคลเซียมจากนมแม่และอาหารอย่างเพียงพอแก่ความต้องการตามอายุของเด็ก โดยทารกอายุ 0-5 เดือน ได้รับพอเพียงจากนมแม่อย่างเดียว ทารกอายุ 6-11 เดือน ต้องการแคลเซียม 270 มก./วัน เด็กอายุ 1-3 ปี ต้องการแคลเซียม 500 มก./วัน เด็กอายุ 4-8 ปี ต้องการแคลเซียม 800 มก./วัน และเด็ก-วัยรุ่นอายุ 9-18 ปี ต้องการแคลเซียม 1,000 มก./วัน ถ้าปฏิบัติดังกล่าวเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็อาจมีภาวะแพ้อาหารอย่างอื่นร่วมด้วย โดยแม่อาจต้องงดอาหารที่แพ้ง่ายอื่นๆ ค่ะ  แต่กรณีที่แม่ไม่สามารถงดนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว และโปรตีนจากนมวัวได้ หมอก็อาจต้องให้เด็กดื่มนมสูตรพิเศษสำหรับรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัวโดยเฉพาะ

            กรณีเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม ต้องเลือกให้นมที่ไม่มีโปรตีนจากนมวัวทดแทนนมผสม โดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ อายุของเด็ก ค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่รับไหว และรสชาติค่ะ ส่วนนมทดแทนสูตรต่างๆ เราเรียกว่าเป็นอาหารทางการแพทย์ที่ใช้รักษาเด็กที่เป็นโรคแพ้โปรตีนนมวัว ได้แก่ Soy protein-based formula (SF, นมสูตรโปรตีนจากถั่วเหลือง) Extensively hydrolyzed formula (eHF, นมสูตรโปรตีนที่ผ่านการย่อยอย่างเต็มที่) Amino acid-based formula (AA, นมสูตรกรดอะมิโน) Modular formula (MF, นมสูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย)  หรือกรณีที่เด็กอายุมากกว่า 2 ปี และสามารถรับประทานอาหารอย่างอื่นได้แล้วก็อาจไม่จำเป็นต้องให้นมทดแทน โดยหมอจะพิจารณาให้ยาเม็ดแคลเซียมที่ไม่มีส่วนประกอบของนมวัวเสริมค่ะ

มีแม่ๆ หลายคนที่อยากให้ลูกดื่มนมสูตรพิเศษชนิดที่โปรตีนย่อยสลายเป็นขนาดเล็กๆ มาปรึกษาหมอเพราะเคยไปหาข้อมูลเรื่องนี้มาแล้ว คุณแม่ทำถูกแล้วค่ะที่มาปรึกษาหมอก่อนเพราะการเปลี่ยนนมนั้นต้องดูตามความเหมาะสม และหมอจะได้ให้คำแนะนำในการเลือกนมที่ใช้ดื่มทดแทนนมวัวได้ถูกต้องอย่างเหมาะสมกับเด็กแต่ละคนค่ะ โดยหมอต้องวินิจฉัยให้ทราบก่อนว่าลูกแพ้ของคุณแม่นมวัวแน่นอนรึเปล่า ไม่ใช่ว่าคุณแม่อยากให้ลูกดื่มป้องกันโดยที่ยังไม่ทราบว่าลูกแพ้จริงหรือไม่ หรือถ้าลูกเป็นภูมิแพ้ชนิดรุนแรง หรือมีอาการแสดงทางผิวหนัง การวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดอาจได้ผล แต่คุณแม่พาลูกมาด้วยอาการท้องเสีย อาจจะต้องส่องกล้อง หรือตรวจอุจจาระ หรือทดสอบด้วยการให้ทดลองรับประทาน (Oral Challenge) โดยการให้เด็กดื่มนมวัวทีละน้อยๆ จากนั้นสังเกตอาการเด็กภายใน 3-5 วัน ซึ่งถ้าพบว่าแพ้ก็ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัว  แต่วิธีนี้เราไม่ควรทำเองที่บ้านนะคะเพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้แบบรุนแรงได้ ควรทำในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการแพ้จะได้ปลอดภัยค่ะ

 

ปรึกษาใครเมื่อแพ้นมวัว

            โดยส่วนใหญ่ตามโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงเรียนแพทย์ที่มีหมอเฉพาะทางด้านภูมิแพ้เด็กจะสามารถวินิจฉัยและตรวจเพิ่มเติมได้ว่าลูกของคุณแพ้นมวัวหรือไม่ โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยในเด็กที่มีกลุ่มอาการไม่ชัดเจน แต่ถ้ามีอาการชัดเจนว่าแพ้นมวัว กุมารแพทย์ทั่วไปก็สามารถให้การดูแลเด็กได้เหมือนกันค่ะ

 

อ๊ะ อ๊ะ...อย่าเข้าใจผิดคิดว่าแพ้นมวัว

            ปัจจุบันหลายครอบครัวพาลูกมาพบหมอด้วยอาการป่วยในระบบอื่น เช่น น้ำมูกไหลเรื้อรัง หอบหืด เป็นหวัดบ่อย ทำให้ต้องพึงระวังว่าอาจไม่ใช่อาการแพ้นมวัวนะคะ  ซึ่งจะฟันธงว่าลูกของคุณแพ้นมวัวหรือไม่ก็ต้องให้แพทย์วินิจฉัยให้ชัดเจนก่อน และสิ่งสำคัญคือ การป้องกันสำหรับลูกคนต่อไปไม่ให้มีอาการแพ้นมวัว โดยคุณแม่ที่มีประวัติเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวปริมาณมากในขณะตั้งครรภ์ หรือต่อให้ไม่มีประวัติ การดื่มนมวัวมากๆ อาจไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้เหมือนกันค่ะ

            อาการแพ้นมวัวไม่น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ  การหยุดดื่มนมวัวทำให้หายขาดจากอาการได้ เมื่อไม่มีอาการแพ้ จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาได้ค่ะ