CONTENT VIEW

ลมพิษ


“ลมพิษส่วนใหญ่เป็นอาการแพ้ที่แสดงออกมาทางผิวหนังโดยการรับประทานหรือสูดเข้าไปในร่างกายแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นมา ไม่ใช่อาการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสผิวหนังโดยตรง”

          “ลูกเป็นลมพิษ” พ่อแม่หลายคนโดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่มักจะตกใจเมื่อเห็นผื่นขึ้นเห่อตามร่างกายของลูก ซึ่งหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นมา คุณจะมีวิธีจัดการกับลมพิษอย่างไร คำตอบรออยู่ที่นี่แล้วค่ะ

 

รู้จักลมพิษ

          ความจริงแล้ว “ลมพิษ” ไม่ใช่โรคอย่างที่ใครๆ คิดนะคะ แต่เป็นอาการที่แสดงออกทางผิวหนัง เพราะเกิดจากเซลล์ที่อยู่รอบๆ เส้นเลือดใต้ผิวหนังถูกกระตุ้นจากสาเหตุต่างๆ กัน ทำให้มีการหลั่งสารเคมีและสารที่เป็นโปรตีน ซึ่งจะมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังขยายตัวและมีการซึมออกของน้ำเหลืองและโปรตีนค่ะ โดยเราจะเห็นลักษณะของลมพิษเป็นผื่นนูนแดงและมีผื่นแดงราบรอบๆ ซึ่งในรายที่เป็นมากก็จะมีอาการบวมของเนื้อใต้ผิวหนังอย่างมากร่วมด้วยค่ะ

 

อาการ

          อาการของลมพิษนั้นจะเริ่มด้วยอาการคันมาก่อนค่ะ หลังจากนั้นจะมีอาการบวม (wheal) ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งตัวโดยเฉพาะบริเวณที่ถูกเกาหรือกดรัด ผื่นมักจะเป็นๆ หายๆ อาการบวมนี้อาจจะเป็นแบบตุ่มนูนที่มีขนาดแตกต่างกันไป มีลักษณะได้หลากหลาย ส่วนใหญ่อาจดูคล้ายตุ่มยุงกัด บางแห่งอาจจะกระจายวงกว้างดูคล้ายแผนที่ โดยตรงกลางผื่นสีจะจางและไม่นูนนะคะ ผื่นลมพิษนี้อาจมีลักษณะแตกต่างกันไป ในบางครั้งจะรวมกันเป็นปื้นหนา หรืออาจมีจุดขาวซีดๆ ตรงกลาง ขณะที่ขอบโดยรอบจะหนานูนแดง

          ส่วนใหญ่แล้วผื่นลมพิษมักจะเห่อเร็วและผื่นนั้นจะหายได้เองภายใน 4-6 ชม.โดยไม่มีร่องรอยหลงเหลืออยู่ แล้วก็จะย้ายไปขึ้นบริเวณอื่นได้อีกค่ะ โดยมากผื่นจะหายไปใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมง มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นโรคอื่นก็ได้ค่ะ สำหรับในรายที่เป็นมากอาจมีอาการบวมของหนังตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และทางเดินหายใจ เรียกว่า Angioedema ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีทางเดินหายใจอุดกั้น ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบให้การรักษาโดยด่วนค่ะ

 

ลมพิษมีกี่ชนิด

          เราสามารถแบ่งลมพิษออกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกันดังนี้ค่ะ

          1. ลมพิษชนิดปัจจุบัน (Acute urticaria) คือ ลมพิษที่เกิดอาการทันทีหลังจากได้รับสารที่แพ้  ซึ่งผื่นมักจะหายเองใน 24 ชั่วโมง แต่บางคนผื่นอาจจะอยู่ได้ 2-3 วัน ส่วนลมพิษที่เป็นๆ หายๆ น้อยกว่า 6 สัปดาห์ สาเหตุมักจะเกิดจากอาหาร ยา และการติดเชื้อไวรัสค่ะ

          2. ลมพิษเรื้อรัง (Chronic urticaria) คือ ลมพิษที่เป็นเรื้อรังนานเกิน 6 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งร้อยละ 80 ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดลมพิษ หรือถ้าวิเคราะห์สาเหตุที่เป็นไปได้ก็อาจเกิดจากการได้รับสารที่แพ้อย่างต่อเนื่อง เช่น ได้รับยาปฏิชีวนะที่อยู่ในนม สารถนอมอาหาร สีของสารปรุงรส เป็นต้น การติดเชื้อภายในอย่างเช่น พยาธิ วัณโรค ไวรัสตับ การติดเชื้อในช่องปาก หรืออาจเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ

 

จะทราบสาเหตุของลมพิษได้อย่างไร

          ส่วนใหญ่ลมพิษเป็นอาการแพ้ที่แสดงออกมาทางผิวหนังโดยการรับประทานหรือสูดเข้าไปในร่างกายแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นมา ไม่ใช่อาการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสผิวหนังโดยตรง อย่างเช่น ฝุ่น หรือผงซักฟอก ดังที่เคยเข้าใจกันมา ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ ยาบางชนิดรวมทั้งยาสมุนไพร อาหารเสริมชนิดผงหรือเม็ด สิ่งที่ใช้ทาถู เครื่องสำอาง อาหารบางชนิด เช่น กุ้ง ปู แป้งสาลี เป็นต้น ปัจจุบันเรามีข้อมูลมากขึ้นว่าการแพ้ไรฝุ่นก็เป็นสาเหตุได้ด้วยเหมือนกันค่ะ และพบว่าในรายที่เป็นมานานมากแล้วมักจะหาสาเหตุไม่เจอ  ผิวหนังของผู้ที่เป็นลมพิษจะมีความไวมากนะคะ ฉะนั้นการเกา การถูไถ การขีดข่วน การกดทับ นานๆ ก็จะทำให้ลมพิษกำเริบได้เสมอๆ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ลมพิษมักจะชอบเป็นตอนเย็นหรือหลังการอาบน้ำค่ะ

สำหรับใครที่ยังกังวลว่าถ้าจะระวังไม่ให้เป็นลมพิษจะต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง เอาเป็นว่าหมอจะยกตัวอย่างสาเหตุทั่วไปที่พบในคนที่เป็นลมพิษมาให้ดูนะคะ

1. การแพ้สารอาหาร เช่น นม ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลีสารอื่นที่ใส่ในอาหารที่ทาน เช่น สารกันบูด สารแต่งสี แต่งกลิ่น เป็นต้น

2. การแพ้ยา เช่น การแพ้ยาเพนนิซิลิน  เป็นต้น

3. การแพ้แมลง เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มด ตัวบุ้ง เป็นต้น

4. การแพ้ต้นไม้หรือสัตว์บางชนิด เช่น เกสรหญ้า เกสรดอกไม้ ต้นหมามุ่ย ขนแมว ยางของต้นไม้หรือพืชบางชนิด เป็นต้น

5. การติดเชื้อซึ่งพบได้ เช่น พยาธิ ตับอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น

6. ปัจจัยภายนอกอื่นๆ อย่างเช่น อากาศร้อนมาก  เย็นมาก  แสงแดด  การออกกำลังกาย หรือการถูไถก็อาจทำให้เกิดลมพิษขึ้นได้เช่นกันค่ะ

คุณเสี่ยงเป็นลมพิษหรือไม่

            ผู้อ่านหลายคนอาจสงสัยว่า อาการที่เคยเกิดขึ้นกับตนเองหรือคนรอบข้างเป็นอาการของลมพิษหรือไม่           แล้วคุณมีโอกาสเสี่ยงเป็นลมพิษหรือไม่  ก่อนอื่นลองสังเกตว่าคุณแพ้ยาหรือไม่ เพราะหากคุณรับประทานยาที่แพ้           ก็จะทำให้เกิดผื่นลมพิษได้นะคะ ต่อมาเรื่องของอาหาร ให้สังเกตว่าอาหารที่คุณรับประทานเคยทำให้คุณเป็นลมพิษหรือไม่ เพราะคุณอาจจะเป็นลมพิษจากการแพ้อาหารที่รับประทานก็ได้ค่ะ ซึ่งอาหารที่พบว่ามีคนแพ้บ่อยคือ พวกนม อาหารทะเล ไข่กรณีที่เกิดลมพิษจากแพ้อาหารมีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ มักจะมีลมพิษภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารชนิดนั้นและถ้าไม่รับประทานอาหารที่สงสัยก็จะไม่มีลมพิษขึ้น ควรจดบันทึกรายการอาหารที่รับประทานในแต่ละวันและเวลาในการขึ้นผื่น แล้วดูว่ามีความสัมพันธ์กับอาหารชนิดนั้นหรือไม่

            ทีนี้มาดูกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อกันบ้าง อย่างเช่นพวกโรคไข้หวัด ปอดบวม หรือพยาธิ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็อาจมีไข้ผื่นที่มาจากการติดเชื้อได้เหมือนกันค่ะ จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีภาวะเสี่ยงการเกิดลมพิษ  และสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ธัยรอยด์  ผู้ป่วยที่รับประทานยาแอสไพรินก็มีโอกาสเป็นลมพิษได้เช่นกันค่ะ

            การอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดลมพิษได้นะคะ  เช่น อยู่ในสภาวะที่ร้อนเกินไป เย็นเกินไป ถูกแรงกดรัดมากๆ  อยู่ในสภาวะแสงที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น   อีกปัญหาที่พบบ่อยคือ  การถูกแมลงหรือสัตว์กัดต่อย คนบางคนแพ้แมลงมากถูกกัดทีไรขึ้นผื่นทุกที คนประเภทนี้มีโอกาสเป็นลมพิษสูงทีเดียวค่ะ

            นอกจากนี้ สาเหตุอื่นๆ ของลมพิษ ที่อาจเกิดขึ้นได้แต่พบน้อยในเด็ก เช่น พวกมะเร็งบางชนิด เกิดภาวะ ทัยรอยด์ทำงานมาก (Hyperthyroidism) โรคเลือดบางชนิด เป็นต้น

 

อะไรคือลมพิษชนิดอันตราย

            แค่ฟังชื่อก็น่ากลัวแล้วใช่ไหมคะ แต่ถ้าเกิดเป็นลมพิษชนิดอันตรายขึ้นมาล่ะ จะสังเกตได้อย่างไร และมีวิธีรับมือกับลมพิษชนิดนี้อย่างไร หมอมีวิธีสังเกตค่ะ

            ลมพิษที่มีลักษณะต่อไปนี้ถือว่าเป็นลมพิษชนิดอันตรายที่ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วนเลยนะคะ อาการแรกคือ ลมพิษ ที่มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ที่ตา ปาก  อาการที่สองคือ ลมพิษ ที่มีอาการเสียงแหบ หายใจอึดอัด หรือหอบ  อาการที่ 3 คือ ลมพิษ ที่มีอาการเป็นลม ช็อค ความ ดันโลหิตต่ำร่วมด้วย อาการที่ 4 คือ ลมพิษ ที่เป็นแล้วแต่ละแห่งที่ขึ้นผื่นจะยุบช้า คือเกิดขึ้นนานกว่า 24 ชั่วโมง และหลังผื่นบริเวณนั้นหายแล้วจะมีลักษณะเป็นรอยสีน้ำตาลคล้ำเกิดขึ้น และอาการสุดท้ายคือ  ลมพิษ ที่มีอาการไข้ ปวดข้อ แพ้แดดร่วมด้วยค่ะ

 

การรักษา

            ในการรักษาลมพิษนั้น ถ้าจะให้ดีเราควรป้องกันก่อนที่จะเกิดอาการจะดีกว่าค่ะ ซึ่งหมอมีหลัก 3 ล. ที่ให้จำกันง่ายๆ มาฝากค่ะ  ล.แรก คือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้หรือสงสัยว่าจะแพ้ ล.ที่สอง คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น ภาวะเครียด อากาศเย็นหรือร้อนเกินไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสุดท้าย ล.ที่สาม คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน ยาลดความดันบางกลุ่ม เช่น ACEI ในผู้ที่เป็นลมพิษเรื้อรังค่ะ

 

การรักษาด้วยยา

             ด้านการรักษาด้วยยาอาจได้ผลดีในบางราย และไม่ได้ผลในบางรายเป็นกรณีไปนะคะ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยหมอมีข้อแนะนำดังนี้ค่ะ

1.    หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น

2.    ในรายที่เป็นรุนแรงให้ใช้ยาฉีดช่วยชีวิต (epinephrine)

3.    ให้ยาแก้แพ้ (ต้านฮีสตามีน)

4.    หากไม่ได้ผลก็ให้ยาสเตียรอยด์

             กรณีเป็นลมพิษมาไม่นานอาจใช้ยาช่วงสั้นๆในช่วงมีอาการ แต่ถ้าเป็นลมพิษเรื้องรังอาจต้องรักษาเป็นปีอาการจึงจะหายสนิทกรณีเป็นลมพิษมาไม่นานอาจใช้ยาช่วงสั้นๆ ในช่วงมีอาการ แต่ถ้าเป็นลมพิษเรื้องรังอาจต้องรักษาเป็นปีอาการจึงจะหายสนิท

 

ข้อสังเกต

             ลมพิษเป็นแค่การแสดงอาการของโรค   จึงไม่ใช่ตัวโรคที่แท้จริง (เปรียบเสมือนอาการเป็นไข้ซึ่งเป็นอาการแสดงของการติดเชื้อ) ดังนั้นเมื่อเป็นลมพิษ ถึงแม้ว่าจะรักษาจนหายแล้วก็ต้องหาสาเหตุต่อว่าลมพิษที่เป็นอยู่นั้นมาจากสาเหตุใด เมื่อหาได้แล้วก็รักษาหรือป้องกันสาเหตุนั้น ก็จะทำให้การรักษาลมพิษหายขาดได้ค่ะ

 

ข้อควรระวัง

              ลมพิษที่มีอาการบวมทั้งตัวโดยเฉพาะที่หน้า และมีอาการหายใจลำบากหรือหายใจแล้วมีเสียง..วี๊ดๆ แสดงว่าเกิดอาการแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis) ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที และถ้ามีอาการบวมในหลอดลม   อาจทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออกจนเสียชีวิตได้ค่ะ