CONTENT VIEW

พิชิตโรคหืด


“สิ่งกระตุ้นให้โรคหืดกำเริบมีหลายอย่าง ได้แก่ การเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ การได้รับสารก่อภูมิแพ้   การติดเชื้อบางชนิด และการออกกำลังกาย”

 

ถ้าลูกของคุณมีอาการแบบนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคหืด

• ไอเรื้อรัง

• หายใจมีเสียงวี๊ด

• ตื่นเวลากลางคืนเพราะไอ หรือหายใจลำบาก

• ไอหรือหายใจมีเสียงวี๊ดหลังออกกำลังกาย

• หายใจลำบากในบางฤดูกาลของช่วงปี

• ไอ หายใจลำบาก เหนื่อย แน่นหน้าอก จากการหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้บางชนิด

 

 

            โรคหืด (Asthma) ถือได้ว่าเป็นโรคที่คุกคามในการใช้ชีวิตประจำวันของเรามาก เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดอาการหอบหรือเรียกว่าอาการจับหืด และคาดคะเนไม่ได้อีกว่าในการหอบแต่ละครั้งจะมีอาการมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้น ถ้าเราทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหืดให้มากเข้าไว้  รวมถึงมีแผนการรักษาที่ดีโดยวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้รักษากับผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดน้อยลงหรือไม่มีเลย คุณภาพชีวิตที่ดีก็จะตามมาค่ะ ส่วนใครที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคหืดหรือไม่ ข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นแนวทางการในการดูแลตัวเองหรือคนในครอบครัวที่เป็นโรคหืดให้สามารถพิชิตโรคหืดได้ค่ะ

 

อันตรายและความรุนแรงของโรคหืด

               เราพบว่าโรคหืดเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพที่รุนแรงทั่วโลก จากข้อมูลปัจจุบันประมาณการไว้ว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 150 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นร้อยละ  20-50 ในทุก ๆ 10 ปี ส่วนในประเทศไทยเรามีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 3 ล้านคน และมีอัตราผู้ป่วยโรคหืดเสียชีวิตประมาณ  1,000 คนต่อปีค่ะ

               เมื่อเทียบสถิติผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จากการสำรวจ10 ปีที่แล้วเปรียบเทียบกับปัจจุบันมีตัวเลขเพิ่มขึ้นประมาณ  3 เท่า โดยมีเด็กที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 และโรคหืด (ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง) มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 โดยร้อยละ 80 ของเด็กที่เป็นโรคหืดอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และแนวโน้มของโรคหืดเริ่มเกิดในเด็กเล็กลงเรื่อยๆ  ในปัจจุบันแนวคิดของโรคนี้จึงต้องเน้นการป้องกันเป็นหลัก  

 

อาการจับหืด

                สำหรับอาการของผู้ป่วยขณะที่จับหืดคือ มีอาการไอเป็นชุดๆ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจดังหวีด และมักมีอาการเป็นๆ หายๆ หรือในกรณีที่มีอาการมากอาจมีอาการทุกคืนก็เป็นได้ค่ะ ซึ่งเราอาจบรรเทาอาการได้ด้วยยาขยายหลอดลม แต่ก็มักควบคุมอาการได้เฉพาะในช่วงแรกๆ เท่านั้น ต่อมาผู้ป่วยมักต้องใช้ยาบ่อยขึ้นและมากขึ้น

 

อาการแฝง

                ในบางครั้งอาการของโรคหืดไม่จำเป็นต้องมีอาการหอบ แน่นหน้าอก หรือหายใจเสียงดังวี๊ดๆ เสมอไป อาจแสดงอาการเพียงแค่ไอถี่ๆ ตื้นๆ ไอกลางคืน หรือไอเรื้อรังโดยไม่มีเสียงหวีด จึงทำให้การวินิจฉัยยากขึ้น หรือบางทีก็มีอาการแน่นหน้าอกที่เกิดเฉพาะช่วงที่ออกกำลังกาย โดยภาวะที่มักถูกมองข้ามเสมอๆ คือโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งสามารถพบร่วมกันได้มากกว่าร้อยละ 70-80 ทั้งนี้การให้การรักษาอาการของโรคหืดอย่างเดียวโดยไม่รักษาโรคภูมิแพ้ทางจมูกด้วยจะทำให้ควบคุมอาการได้ไม่ดีเท่าที่ควรค่ะ

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหืดหรือไม่

                หมอเองในฐานะของแพทย์ผู้รักษา การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การตรวจวัดสมรรถภาพปอด เพราะวิธีนี้นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคแล้วยังช่วยประเมินความรุนแรงของโรคได้อีกด้วยค่ะ อย่างไรก็ตามการตรวจโดยวิธีนี้ทำได้ค่อนข้างยากในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 7 ปี หรือกรณีที่ไม่มีเครื่องทดสอบสมรรถภาพปอดเราอาจใช้เครื่อง peak flow meter (เครื่องมือสำหรับวัดอาการหอบจากความเร็วของลมหายใจที่เป่าผ่านเครื่อง)  ซึ่งมีราคาถูกกว่าและมีประโยชน์ในการประเมินอาการของโรคกรณีที่ไม่สามารถตรวจสไปโรเมตรีย์ (Spirometry) วิธีการนี้เป็นการทดสอบสมรรถภาพปอดที่ใช้บ่อยที่สุด เพราะทำได้ง่าย ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์เชื่อถือได้ดีและใช้เครื่องมือ   ที่ไม่ซับซ้อนได้  ซึ่งเราจะสามารถบอกความรุนแรงของโรคหืดจากอาการและจากความเร็วของลมที่คนไข้เป่าผ่านเครื่อง Peak Flow Meter ได้ค่ะ

 

การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่เป็นสาเหตุของการหอบ

                 สิ่งกระตุ้นให้โรคหืดกำเริบมีหลายอย่าง ได้แก่ การเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ การได้รับสารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อบางชนิด การออกกำลังกาย ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับสิ่งกระตุ้นของการหอบก่อนดีกว่าค่ะ

                 สิ่งกระตุ้น หมายถึง สิ่งต่างๆ หรือสารบางอย่างที่เข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้เกิดอาการหอบ ผู้ป่วยโรคหืดจะมีสาเหตุจากสิ่งกระตุ้นแตกต่างกัน บางคนก็มีสิ่งกระตุ้นเหมือนกัน สิ่งกระตุ้นมีหลายประเภท เช่น

               “ฝุ่นในบ้าน ขนสัตว์ ต้นไม้ เกสรดอกไม้ อาหารบางชนิด เช่น ไข่ อาหารทะเล ฯลฯ

               “เชื้อโรคหวัด หรือมีการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ”

               “การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ร้อนจัด หนาวจัด ใกล้ฝนตก”

               “สิ่งระคายเคือง เช่น กลิ่นสารเคมี ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ น้ำหอมบางชนิด กลิ่นฉุนๆ”

               “อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ตกใจ ตื่นเต้น เสียใจ โกรธ กังวลมากเกินไป”

               “การออกกำลังกายมากเกินไปจนเกิดอาการเหน็ดเหนื่อย เช่น การเล่นกีฬาที่หักโหม การวิ่งแข่งขัน  การแข่งขันฟุตบอล  เป็นต้น”

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหืด

             ในที่นี้หมอขอแบ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหืดออกเป็น 2 ประการคือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกค่ะ

             ปัจจัยภายในของตัวผู้ป่วย คือ โรคภูมิแพ้ กรรมพันธุ์ และเพศ

             ปัจจัยภายนอก คือ สิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น สารก่อภูมิแพ้ มลพิษจากการทำงาน ควันบุหรี่ มลภาวะในอากาศ

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

            นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่สามารถกระตุ้นให้มีอาการกำเริบขึ้นได้ ได้แก่  การทำงานหนักหรือการออกกำลังกายอย่างหักโหม การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สุขภาพอ่อนแอ เป็นต้น

 

โรคหืด..รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

            ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหืดนานๆ ครั้งและได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้หายขาดจากโรคได้เมื่ออายุมากขึ้น ปัจจุบันถึงแม้ว่ายังไม่มีการรักษาโรคหืดให้หายขาดได้ แต่ด้วยการรักษาที่เหมาะสมก็จะสามารถควบคุมโรคหืดจนผู้ป่วยไม่มีอาการทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้มีวิถีชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไปค่ะ

 

การรักษาโรคหืด

            การรักษาโรคหืดที่ถูกต้องคือ การรักษาควบคู่กันไปทั้ง 2 อาการสำคัญ คือ

            1. อาการอักเสบของหลอดลม มีผลทำให้หลอดลมไวและมีอาการได้ง่ายเวลาได้รับสิ่งกระตุ้น เราสามารถป้องกันการเกิดอาการนี้โดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของหลอดลม ได้แก่ ยาพ่นสูดสเตียรอยด์ ยาพ่นที่เป็นยาผสมระหว่างยาสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์นานอยู่ในหลอดเดียวกัน ซึ่งยากลุ่มนี้ต้องใช้ต่อเนื่องทุกวันจึงจะเห็นผล

            2. อาการตีบตันของหลอดลม เราสามารถรักษาอาการเฉียบพลันนี้ได้โดยใช้ยาขยายหลอดลม ส่วนยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว ได้แก่ ยากลุ่ม beta-agonist ยาในกลุ่มนี้ใช้เฉพาะช่วงที่มีอาการฉุกเฉินเท่านั้น

           นอกจากนี้ ยาอื่นๆ เช่น ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ หรือยาที่เรียกว่ายาเสริมภูมิ (คีโตติเฟน) ไม่ใช่ยาหลักสำหรับการรักษาโรคหืดและไม่มีผลโดยตรงต่อการลดการอักเสบของหลอดลมค่ะ

 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคหืด

• หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ

• ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

• พักผ่อนให้เพียงพอ

• ควรพยายามรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

• รักษาสุขภาพจิตให้แจ่มใส

• พกยาที่รักษาอาการหอบเฉียบพลันติดตัวเสมอเมื่อออกจากบ้าน

• ใช้ยาให้ถูกชนิด ขนาด เวลา ตามคำแนะนำของแพทย์

• พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

 

 

เคล็ดลับพิชิตโรคหืด

           สำหรับเคล็ดลับในการพิชิตโรคหืดนั้นหากทำได้ตามที่หมอแนะนำก็จะสามารถควบคุมอาการหอบได้ โดยเราจะมาเรียนรู้การพิชิตโรคหืดด้วยการหลีกเลี่ยงหรือรักษาสิ่งที่เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญกันดีกว่าค่ะ

 

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

           ที่หมอต้องพูดถึงเรื่องโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เพราะเราพบว่าผู้ป่วยโรคหืดในปัจจุบันเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้กันมากกว่าร้อยละ 70-80 และมีอาการแพ้ไรฝุ่น ขนสัตว์ รวมถึงสิ่งกระตุ้นอื่นๆ อย่างเช่น ละอองเกสรดอกไม้ หญ้า และเชื้อรา ฉะนั้น หากเราควบคุมอาการของโรคนี้ได้ก็จะช่วยควบคุมอาการของโรคหืดได้เช่นกันค่ะ

วิธีพิชิต

            การพิชิตโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ทำได้โดยพยายามรักษาอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยใช้ยาพ่นจมูกและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวที่มีอาการกำเริบได้ง่าย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสัมผัสให้น้อยที่สุด เช่น ถ้าคิดว่าน่าจะแพ้ขนแมวที่เคยเลี้ยงไว้ในบ้านก็ต้องถอดพรมออกไป ทำความสะอาดพื้น            ทำความสะอาดผนังห้อง และทาสีใหม่ ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศและเปลี่ยนแผ่นกรองของเครื่องฟอกอากาศบ่อยๆ ในเด็กไม่ควรให้เล่นตุ๊กตาที่มีขน แต่ถ้าอาการแพ้ของเด็กไม่อาจควบคุมได้ด้วยการใช้ยาและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ก็คงต้องใช้วิธีฉีดวัคซีนภูมิแพ้ค่ะ

 

การออกกำลังกาย

            การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง  แต่สำหรับผู้ป่วยโรคหืดนั้นการวิ่งหรือออกกำลังกายบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหืดกำเริบได้ค่ะ โดยเฉพาะในเด็กการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้เกิดอาการหอบได้กว่าร้อยละ 50 เลยทีเดียว เพราะการออกแรงมากๆ ทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้น ซึ่งมักจะเป็นการหายใจทางปาก ทำให้อากาศที่เย็นกว่าปกติเข้าสู่ปอดอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก (ตามปกติจมูกจะทำให้อากาศอุ่นและชื้นขึ้น)

วิธีพิชิต

            เคยมีคนถามหมอว่าถ้าเด็กหอบก็ไม่ต้องออกกำลังกายสิจะได้ไม่หอบ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกซะทีเดียวนะคะ เพราะผลวิจัยชี้ชัดว่าเด็กที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการหอบมากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จึงถึงบางอ้อว่าถึงอย่างไรเด็กๆ ที่มีอาการหืดจากการออกกำลังกายก็ยังจะต้องออกกำลังกายอยู่ดี โดยเคล็ดลับของการออกกำลังกายโดยไม่ให้หอบคือ ต้องพ่นยาหรือรับประทานขยายหลอดลมล่วงหน้าก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 15-30 นาทีค่ะ นอกจากนี้ไม่ควรออกกำลังกายที่หนักเกินไป และควรปรับตัวด้วยการทำร่างกายให้อบอุ่นก่อนออกกำลังกายนะคะ

 

การติดเชื้อ

            ปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งคือการติดเชื้อค่ะ ซึ่งโรคส่วนใหญ่ที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบในเด็ก คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยโรคที่เราพบบ่อยที่สุดคือ ไข้หวัด รองลงไปคือ ไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ (RSV)

วิธีพิชิต

            การพิชิตโรคดังกล่าวไม่ยากค่ะ แค่พาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่  ซึ่งเป็นตัวการที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบที่รุนแรง ฉะนั้นในเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไปจึงควรฉีดวัคซีนทุกปีค่ะ

 

สารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง

            สารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในที่นี้ หมอหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมทุกชนิด ซึ่งได้แก่เทียนหอมและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ตลอดจนควันบุหรี่ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า เด็กที่พ่อแม่สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจสูงกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้สูบถึงสองเท่า

วิธีพิชิต

            เราต้องพยายามช่วยลูกหลีกเลี่ยงสารที่แพ้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับกรณีของสารก่อภูมิแพ้ ส่วนเรื่องของควันบุหรี่นั้นอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะการเลิกบุหรี่ไม่ได้ทำสำเร็จกันง่ายๆ ฉะนั้นถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจ สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ได้ที่หมายเลข 1600 ค่ะ

 

อากาศ

            อากาศรอบๆ ตัวเรามีผลอย่างมากแก่ผู้ป่วยโรคหืด จนอาจบอกได้ว่าอากาศ คือตัวการสำคัญที่สุดที่จะทำให้อาการของโรคหืดกำเริบค่ะ ในฤดูหนาวหรืออากาศเริ่มจะเย็นลงสังเกตว่าคนไข้โรคหืดจะเริ่มมีอาการ อาจจะจริงอยู่ว่าแม้อากาศเย็นเป็นสิ่งที่คนเมืองร้อนอย่างเราถวิลหา แต่สำหรับผู้ป่วยโรคหืดแล้ว ถ้าเจออากาศเย็น ความเย็นจะกระตุ้นให้เกิดอาการหลอดลมตีบ ในทางกลับกันพอเข้าสู่ฤดูร้อน มลพิษทางอากาศ ละอองเกสรดอกไม้ และโอโซนก็จะกลายเป็นตัวการสำคัญแทน เรียกได้ว่าหนีไม่พ้นเลยนะคะ

วิธีพิชิต

            ถ้าเป็นไปได้ผู้ป่วยควรอยู่ในบ้านเมื่ออากาศหนาวจัด หรือถ้ามลพิษทางอากาศหรือโอโซนคือสิ่งที่ทำให้เกิดอาการก็ใช้เวลาอยู่นอกบ้านในช่วงเช้า ซึ่งมลพิษและโอโซนน่าจะมีระดับต่ำที่สุด ส่วนการหลีกเลี่ยงอากาศร้อนทำได้โดยพออากาศเริ่มร้อนขึ้นก็พยายามเข้าไปอยู่ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศค่ะ

 

เป้าหมายอยู่ที่การควบคุมอาการ

               แม้จะมีความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถจัดการกับโรคหืดได้ดีจนหมดปัญหา แต่โรคนี้ก็ยังได้รับการรักษาในระดับต่ำอยู่ดี เพราะแพทย์มักเห็นว่าโรคหืดเป็นโรคที่อาการกำเริบเป็นพักๆ จึงให้การรักษาเฉพาะตอนที่อาการกำเริบหนักเท่านั้นและไม่ได้นัดให้ผู้ป่วยกลับมาพบเพื่อติดตามดูอาการอย่างสม่ำเสมอ

              สำหรับข้อคิดท้ายบท คือ เป้าหมายของหมอในการรักษาโรคหืดอยู่ที่การควบคุมอาการ ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยไม่มีอาการกำเริบ ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับยาขยายหลอดลมเพิ่ม และผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตได้ตามปกติ โดยเคล็ดลับที่จะทำให้ควบคุมอาการของโรคหืดได้ อันดับแรก แพทย์จะต้องเขียนแผนการรักษาที่จะใช้เป็นแนวทางสำหรับการรักษาด้วยยา ตลอดจนกลยุทธ์เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นที่มีผลต่อเขาได้มากที่สุด ขั้นตอนที่สองคือ พยายามหาคำตอบให้ได้ว่ายาที่ใช้ได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยมีอะไรบ้าง และผู้ป่วยใช้ยาเหล่านั้นตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดหรือไม่  เพียงเท่านี้ก็จะสามารถพิชิตโรคหืดได้แล้วค่ะ

 

เป้าหมายในการรักษาโรคหืดตามมาตรฐานปัจจุบัน

• ไม่มีอาการเรื้อรัง

• เกิดอาการกำเริบไม่เกิน 1 ครั้งใน 1 ปี

• ไม่ต้องเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล

• ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้นเพื่อบรรเทาอาการเฉียบพลัน หรือใช้น้อยที่สุด

• ปฏิบัติภารกิจประจำวันได้ตามปกติรวมทั้งการออกกำลังกาย

• ค่าสมรรถภาพปอดปกติ

• ไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากยารักษาโรคหืด หรือมีน้อยที่สุด