CONTENT VIEW

ต้านหืดแบบพอเพียง


“เป็นที่รู้กันดีว่าโรคหืดต้องรักษาด้วยการพ่นยา ซึ่งการพ่นยาในเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะเด็กยังไม่สามารถควบคุมการหายใจได้เหมือนกับผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งในผู้สูงอายุก็มักพบปัญหาเรื่องการควบคุมการหายใจได้ไม่ดีเหมือนกับคนวัยหนุ่มสาว ทำให้การพ่นยาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ปัจจุบันจึงมีอุปกรณ์เสริมในการช่วยพ่นยา มีลักษณะเป็นท่อต่อ มีปากกรวยไว้สำหรับครอบที่ปากและจมูก เรียกว่า กระบอกกักเก็บยา (spacer) มาใช้ร่วมกับยาพ่น”

           สำหรับในบทสุดท้ายนี้ในฐานะหมอคนหนึ่งที่อยู่กับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และโรคหืดมาตลอดทั้งชีวิต โดยธรรมชาติของตัวโรคเป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยยา  รวมทั้งอุปกรณ์บางตัวที่จำเป็นต้องใช้ก็มีราคา ค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องใช้วัสดุจากต่างประเทศ  ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

           จากภาระค่าใช้จ่ายต่างๆในการรักษาโรคหืดทั้งจากค่ายา และค่าอุปกรณ์เสริมที่มีราคาแพงทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้  ปัญหาเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้หมอคิดค้นอุปกรณ์การรักษาโรคหืดที่มีราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่าอุปกรณ์ราคาแพงจากต่างประเทศเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน

 

ทำไมต้องใช้กระบอกกักเก็บยา

            จากที่หมอได้อธิบายไว้ว่าโรคหืดเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ส่งผลให้หลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ เมื่อผู้ป่วยที่อาการหืดกำเริบจะทุกข์ทรมานมาก ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถไปโรงเรียนหรือไปทำงานได้ตามปกติ ผู้ป่วยในบางรายมีอาการจับหืดจนต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือในบางรายที่เป็นมากอาจต้องนอนโรงพยาบาล หรือในบางรายก็เป็นรุนแรงกะทันหันไม่สามารถช่วยได้ทันจนอาจเสียชีวิตได้ค่ะ

             ทุกวันนี้จำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และโรคหืดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากผลการสำรวจทั่วโลกและในประเทศไทยพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 3-4 เท่า ภายในระยะเวลา 40 ปี เรารู้กันดีว่าคนที่เป็นหืดจำเป็นต้องรักษาด้วยการพ่นยา ซึ่งการพ่นยาในเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะเด็กยังไม่สามารถควบคุมการหายใจได้เหมือนกับผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งในผู้สูงอายุเองก็มักพบปัญหาเรื่องการควบคุมการหายใจได้ไม่ดีเหมือนกับคนวัยหนุ่มสาว ทำให้การพ่นยาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

             การรักษาโรคหืดนี้โดยส่วนใหญ่เรามักจะให้ผู้ป่วยใช้ยาพ่นสูดสำหรับโรคหืด เนื่องจากตัวยาจะเข้าสู่ตำแหน่งทางเดินหายใจโดยตรง ทำให้ช่วยลดอาการจับหืดและมีผลข้างเคียงน้อยค่ะ ซึ่งการออกฤทธิ์ของยาพ่นสูดนี้เร็วกว่าการให้ยาโดยวิธีอื่น โดยยาพ่นที่นิยมใช้มากที่สุดคือ pMDI (pressurized meter dose inhaler) ซึ่งเป็นยาพ่นสำหรับผู้ป่วยโรคหืด สำหรับขั้นตอนสำคัญในการใช้ pMDI ง่ายๆ คือระหว่างที่เรากดยานั้นลมหายใจก็ต้องประสานกัน (hand-lung coordination) อธิบายง่ายๆ ก็คือ เราต้องกดยาพร้อมกับการกลั้นหายใจในจังหวะเดียวกัน ทั้งนี้ระยะห่างจากปลายทางออกของยากับปากก็ต้องเหมาะสมด้วยนะคะ จากการสำรวจเราพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่พ่นยา  pMDI จะพ่นยาผิดวิธี โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกลั้นหายใจในจังหวะที่สูดยาได้ ดังนั้นในทางการแพทย์จึงมีการนำกระบอกกักเก็บยาหรือที่เราเรียกว่า สเปเซอร์ (spacer) มาใช้ร่วมกับยาสูดพ่น pMDI  ซึ่งหลังจากที่นำกระบอกกักเก็บยามาใช้ช่วยในการพ่นยา pMDI แล้วพบว่า สามารถลดการสะสมของยาที่คอหอยส่วนปากได้ ทำให้ลดผลข้างเคียงของยาสูดชนิดสเตียรอยด์ อีกทั้งยังไม่ต้องอาศัยการประสานกันระหว่างการกดยากับการหายใจ ซึ่งสามารถลดขนาดละอองยาและเพิ่มปริมาณของยาที่เข้าปอดค่ะ สรุปว่าหลักการง่ายๆ ของเจ้ากระบอกกักเก็บยาคือ “ทำให้ผู้ป่วยพ่นยาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องสัมพันธ์กับจังหวะการหายใจและไม่ต้องกลั้นหายใจขณะที่สูดยา” ฉะนั้นยาจึงเข้าปอดได้ดีกว่าการไม่ใช้กระบอกกักเก็บยายังไงล่ะคะ

 

กระบอกกักเก็บยา (spacer) หน้าตาเป็นอย่างไร

             หน้าตาของกระบอกกักเก็บยาหรืออุปกรณ์เสริมในการช่วยพ่นยา มีลักษณะเป็นท่อต่อ มีปากกรวยไว้สำหรับครอบที่ปากและจมูก โดยเราจะนำมาใช้ร่วมกับยาพ่น เวลาจะพ่นยาก็จะใช้บริเวณที่เป็นรูปปากกรวยครอบเข้ากับหน้าของผู้ป่วย  นอกจากนี้กระบอกกักเก็บยาควรมีลิ้นวาล์วเปิดปิดไว้เพื่อควบคุมทิศทางการหายใจ (เป็นเคล็ดลับที่ทำให้เราไม่ต้องกลั้นหายใจเวลาสูดยาไงคะ) ทำให้ผู้ป่วยสูดลมหายใจเข้า-ออก ได้ตามปกติ ซึ่งกระบอกกักเก็บนี้จะนำยาที่พ่นเข้าสู่ปอดได้มากกว่าเวลาที่เราพ่นสูดยาโดยไม่ใช้กระบอกกักเก็บยาถึง 10 เท่าคะ

 

กระบอกกักเก็บยาที่ดีมีลักษณะเป็นอย่างไร

              กระบอกกักเก็บยาที่ดีนั้นควรมีขอบหน้ากาก (mask) ที่ต้องสัมผัสกับหน้าของผู้ป่วย ที่โค้งนิ่มไปตามรูปหน้าของผู้ป่วยและแนบสนิทไปกับใบหน้าเพื่อไม่ให้ยารั่วซึมออกมานอกกรวย โดยขนาดของกระบอกกักเก็บยาควรมีปริมาตรอย่างน้อย 140 มิลลิลิตร ถ้าปริมาตรใหญ่กว่านี้ได้ก็ยิ่งดี เพราะทำให้ยากระจายตัวได้ดีกว่า นอกจากนี้ควรมีลิ้นวาวล์เปิดปิดเพื่อไม่ให้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกปนกันด้วยค่ะ 

              กระบอกกักเก็บยาที่นิยมใช้ทั่วไปในวงการแพทย์เป็นอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำจากพลาสติกซึ่งมีลิ้นวาวล์เปิดปิด มีหน้ากากโค้ งนิ่มและแนบไปกับใบหน้า แต่มีข้อจำกัดคือหน้ากากของ นั้นมีให้เลือกเพียง 2 ขนาดเท่านั้น และไม่สามารถถอดกระบอกแยกออกจากลิ้นได้  จึงไม่สามารถปรับขนาดของหน้ากากและปริมาตรกระบอกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกคนได้ นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่อุปกรณ์ชนิดนี้มีราคาสูงถึงชิ้นละ 1,400-1,500 บาท และเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงปฏิเสธที่จะหาซื้อมาใช้  ในเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ชนิดนี้ทำให้มีผลในด้านการรักษาโดยเราไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ค่ะ นี่เป็นประเด็นหลักที่ทำให้หมอคิดอยู่ในใจว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ป่วยได้ใช้เจ้ากระบอกกักเก็บยาแบบนี้ได้ในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้  แล้วเราจะสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ง่ายๆ ที่มีราคาถูกได้ย่างไร และที่สำคัญต้องมีประสิทธิภาพใกล้เคียงหรือเทียบเท่าอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วยค่ะ

 

จุดประกาย... DIY spacer

              ในวันหนึ่งโชคชะตาช่างเป็นใจเหลือเกิน ขณะที่หมอลงตรวจผู้ป่วยเด็กโรคหืดชื่อน้องปอย ขณะนั้นน้องปอยเป็นเด็กน้อยวัยเพียง 2-3 ขวบ ที่มีแววตาซุกซนไร้เดียงสา คุณพ่อพามาหาหมอด้วยอาการหอบ น้องปอยมาพบหมอเพื่อตรวจรักษาหลายครั้ง ซึ่งหมอแนะนำให้คุณพ่อน้องปอยซื้อกระบอกกักเก็บยามาใช้ช่วยในการพ่นยารักษาอาการหืด แต่ตอนนั้นคุณพ่อน้องปอย (คุณปริญญา  จันทร์หุณีย์) บอกกับหมอว่าไม่มีเงินพอที่จะซื้อสเปเซอร์มา         ให้ลูกใช้  เพราะเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวมีภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกมากพอแล้ว ซึ่งหมอเข้าใจและเห็นใจมาก แต่ยังยืนยันว่าอยากให้น้องปอยใช้กระบอกกักเก็บยาจริงๆ เพื่อจะได้รักษาอาการหืดของน้องปอยให้ได้ผลดี จากนั้นจึงเริ่มคุยกันอย่างจริงจังเพราะคุณพ่อน้องปอยมีอาชีพเป็นวิศวกรทางด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เอ็มเทค หรือศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

               นี่คือประโยชน์อย่างหนึ่งของการพูดคุยกับญาติคนไข้ เพราะเวลาหมอตรวจคนไข้หมอมักจะชอบพุดคุยและซักถามถึงชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงการดูแลของผู้ปกครองที่บ้านด้วย เพื่อหาสาเหตุและรักษาให้ตรงจุด พอคุณพ่อน้องปอยเห็นสเปเซอร์จึงเกิดคำถามว่า “ผมทำใช้เองได้ไหมครับ...ผมว่าผมทำได้” ซึ่งหลังจากที่ได้หารือกับคุณพ่อน้องปอยถึงกลไกการทำงานของอุปกรณ์ช่วยพ่นยาโดยละเอียดและความเป็นไปได้ต่างๆ จึงเกิดเป็นการจุดประกายเริ่มต้นของการทำกระบอกกักเก็บยาขึ้นใช้เอง

                หลังจากนั้นไม่นานคุณพ่อน้องปอยกลับมาหาหมออีกครั้งพร้อมกับอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกระบอกกักเก็บยา  ซึ่งหมอรู้สึกดีใจมาก ที่คุณพ่อน้องปอยทำความฝันของหมอและผู้ป่วยอีกมากมายให้เป็นจริงได้ ซึ่งสิ่งที่หมอรอคอยกำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ คือจะมีผู้ป่วยอีกมากมายที่ได้ใช้อุปกรณ์กักเก็บยาราคาถูกและมีประสิทธิภาพ

 

ต้านหืดแบบพอเพียงด้วย DIY Spacer

                 เป็นที่ทราบกันว่าอุปกรณ์พ่นยาที่นิยมใช้ในการรักษาโรคหืด คือ pMDI ซึ่งพบว่าผู้ป่วยเด็กและสูงอายุ มักจะพ่นยาไม่ถูกวิธี จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมเป็นตัวช่วยกักยา ทำให้พ่นยาได้ง่ายขึ้น และยาเข้าสู่ปอดเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากกระบอกกักเก็บยามีราคาค่อนข้างแพงและไม่มีในทุกโรงพยาบาล ประกอบกับคุณพ่อน้องปอย และทีมวิศวกรศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) อีก 2 ท่านคือ ดร.พสุ  สิริสาลี และ ดร.ดนุ พรหมมินทร์ ได้ช่วยกันประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมา  และมีทีมดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ร่วมกันพัฒนามาใช้กับผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  หมอในฐานะประธานชมรมชมรมผู้ป่วยโรคหืดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  จึงต่อยอดความคิดจากคุณปริญญา นำอุปกรณ์ที่เราร่วมกันคิดขึ้นมาใหม่ตั้งชื่อว่า “DIY (Do-It-Yourself) Spacer” แล้วนำไปจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2553 เรื่อง “อุปกรณ์ช่วยในการพ่นยา”

                  “DIY Spacer” ของเรานั้น มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับของต่างประเทศ เราผลิตมาจากอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ราคาถูก สามารถทำใช้เองได้ และที่สำคัญคือ มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับอุปกรณ์พ่นยาที่นำเข้า เราสามารถทำ “DIY Spacer” ใช้เองได้ง่ายด้วยส่วนประกอบเพียง 4 อย่างเท่านั้นคือ

                  1. ขวดน้ำดื่มกลม ขนาด 0.5 ลิตร จำนวน 1 ขวด

                  2. คอขวดน้ำดื่มกลมขนาด 1.5 ลิตร

                  3. ที่ปั๊มน้ำแบบมือบีบ

                  4. สายลมตู้ปลาชนิดซิลิโคน

 

                  จะเห็นได้ว่าวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้เป็นของที่เหลือใช้และมีต้นทุนต่ำ สามารถหามาได้ง่ายทั่วไป ใครก็ทำได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้นชมรมผู้ป่วยโรคหืดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้แจกจ่ายอุปกรณ์ช่วยพ่นยาตัวนี้ไปยังโรงพยาบาลมากกว่า 70 แห่ง รวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ชุด โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 30-50 บาทต่อชุดเท่านั้นเองค่ะ