CONTENT VIEW

มารู้จักตัวไรฝุ่นกันเถอะ


“ตัวไรฝุ่นเป็นสาเหตุลำดับแรกๆ ที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจทั้งในประเทศไทย  และทั่วโลก  โดยอาการสำคัญของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันตา หอบหืด...”

 

          ตัวไรฝุ่นเป็นต้นเหตุของสารก่อภูมิแพ้ยอดนิยมที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก อาการของโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันตา หอบหืด จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าการได้รับไรฝุ่น 100 ตัว สามารถกระตุ้นร่างกายให้เกิดภูมิแพ้ และถ้าได้รับไรฝุ่นเกิน 500 ตัว จะทำให้อาการของโรคหืดกำเริบ สงสัยกันไหมคะว่าเจ้าตัวไรฝุ่นหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

 

รู้จักไรฝุ่น

          ไรฝุ่น (House dust mite) เป็นแมงชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับ หิด แมงมุม (ที่ไม่จัดเป็นแมลงเพราะแมลงต้องมี 6 ขา แต่ตัวไรฝุ่นตอนเล็กๆ มี 6 ขา พอโตขึ้นก็มีเพิ่มอีก 2 ขา รวมเป็น 8 ขา) แต่ตัวไรฝุ่นจะมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยมีขนาดเฉลี่ยเพียง 300 ไมโครเมตรเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือแว่นขยาย ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูจึงจะเห็นว่าลักษณะลำตัวของมันมีสีขาวคล้ายฝุ่น

 

ไรฝุ่นกินอะไรเป็นอาหาร

           อาหารอันโอชะของตัวไรฝุ่นก็คือ แบคทีเรีย เชื้อรา เศษผิวหนัง รังแค และคราบเหงื่อไคลของคนนี่แหละค่ะ เศษผิวหนัง รังแค และคราบเหงื่อไคลบนเตียงคืออาหารชั้นดีของมัน มันจึงชอบอาศัยอยู่ในเตียงหรือฟูกนอนของเรา นอกจากนี้มันยังชอบกินมูลของตัวมันเอง เนื่องจากในมูลของตัวไรฝุ่นยังมีเศษอาหารที่ย่อยไม่หมดเหลืออยู่ มันจึงสามารถกินมูลของมันเพื่อนำกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อีกถึง 3 รอบเลยทีเดียวค่ะ

           พูดถึงเรื่องมูลของตัวไรฝุ่น ไม่น่าเชื่อว่าไรฝุ่นแต่ละตัวจะถ่ายมูลถึงวันละประมาณ 20 ก้อน โดยแต่ละก้อนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.01-0.04 มิลลิเมตร ผู้อ่านลองคิดตามนะคะว่าถ้าเอามูลของมันมาวางเรียงต่อกันสัก 100 ก้อน เราจะวัดความยาวได้แค่ 1 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง ซึ่งโดนลมพัดเบาๆ ก็สามารถปลิวไปได้ทุกที่ จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลของมันจะปลิวมาเข้าจมูกของเราได้อย่างง่ายดาย แม้ตัวไรฝุ่นมีวงจรอายุเพียง 2 เดือน ก็สามารถขับถ่ายมูลออกมามากมายจนเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้

 

ไรฝุ่นชอบอยู่ที่ไหน

            เจ้าไรฝุ่นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ชอบแสงแต่ชอบความชื้น โดยเฉพาะที่อุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส และที่ระดับความชื้นร้อยละ 75-80  มันจึงชอบอาศัยตามเส้นใย ฟูก หมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตา พรม หรืออะไรที่เป็นขนๆ ซึ่งสามารถเป็นที่อยู่อาศัยให้พวกมันได้เป็นล้านๆ ตัวเลยที่เดียว นึกภาพตามนะคะว่าถ้าลองเอากล้องจุลทรรศน์มาส่องดูจะเห็นมันเดินยั้วเยี้ยอยู่บนที่นอนของเรา...น่าขนลุกไหมล่ะคะ

 

ห้องนอนไร้ไรฝุ่น

            เนื่องจากไรฝุ่นชอบอาศัยอยู่ในที่นอนของเรา จึงไม่ควรใช้หมอนหรือที่นอนเป็นนุ่น นอกจากนี้การนำฟูกหรือที่นอนไปไปผึ่งแดดมักไม่ได้ผล เพราะไรฝุ่นจะหนีไปหลบในส่วนลึกของที่นอนค่ะ วิธีช่วยคือหุ้มที่นอนและหมอนด้วยผ้าคลุมไรฝุ่นที่ทอพิเศษ เพื่อไม่ให้ไรฝุ่นเข้าไปแพร่พันธุ์ และสวมปลอกหมอนทับอีกชั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ตามท้องตลาดหรือในโรงพยาบาลก็จะมีผ้าปูที่นอนและชุดปลอกหมอนกันไรฝุ่นขายทั่วไปแล้วค่ะ หาซื้อได้ไม่ยาก  ส่วนการซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน เราควรซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม สัปดาห์ละครั้ง และที่สำคัญต้องซักด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส จึงจะทำให้ตัวไรฝุ่นตายได้

 

บ้านสวยไร้ไรฝุ่น

            บ้านจะน่าอยู่ก็ต้องตกแต่งให้สวยงามพร้อมประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งบ้านเกือบทุกบ้านมักจะตกแต่งบ้านด้วยผ้าม่าน พรม หรือดอกไม้ประดับ เพื่อให้บ้านสวย น่าอยู่ ดูดี และได้ประโยชน์ใช้สอยจากการตกแต่งบ้านด้วย แต่สำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือโรคหืด เราไม่ควรปูพรมในบ้าน ไม่ควรใช้ผ้าม่านหรือประดับดอกไม้แห้งในห้องเด็ดขาด เพราะจะเป็นที่อยู่ของไรฝุ่นดีๆ นี่เอง อาจเปลี่ยนวัสดุจากผ้าเป็นวัสดุอื่นที่ไม่เป็นแหล่งอยู่อาศัยของตัวไรฝุ่นแทนและให้ความสวยงามได้เหมือนกัน ส่วนเครื่องเรือนต่างๆ ก็ต้องใช้เครื่องเรือนที่ทำด้วยไม้หรือหนังแทนผ้านวมหรือสักหลาด

 

ตุ๊กตาของหนูไร้ไรฝุ่น

            ตุ๊กตาจัดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดีของไรฝุ่นค่ะ และธรรมชาติของเด็กๆ มักชอบเล่นตุ๊กตา แต่การหลีกเลี่ยงการเล่นตุ๊กตาเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะลดอาการโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่น  แต่ถ้าเด็กติดตุ๊กตามากให้กำจัดไรฝุ่นโดยนำตุ๊กตา ไปซักในน้ำร้อน หรือหากซักน้ำร้อนไม่ได้ ให้นำไปแช่ในตู้เย็นช่องแข็งประมาณครึ่งวัน ทำสัปดาห์ละครั้งจะช่วยฆ่าไรฝุ่นในตุ๊กตาได้ค่ะ

            หลังจากที่เราจัดการสภาพแวดล้อมภายในและนอกบ้านเพื่อลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ จะมีผลทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ทุเลาลงและช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นค่ะ โดยเฉพาะในเด็กที่ยังไม่เป็นภูมิแพ้ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้น้อยสามารถป้องกันการเกิดโรคในอนาคตได้นะคะ