CONTENT VIEW

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Testing)


“การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คือ การตรวจวินิจฉัยโดยวิธีสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง วิธีนี้ทำได้ง่าย รวดเร็ว ให้ผลทันที และสิ้นเปลืองน้อย

 

            “หมอคะเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้อะไรบ้าง” เป็นคำถามยอดฮิตของคนไข้ค่ะ  คำตอบคือการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังค่ะ วิธีนี้เป็นวิธีที่ต้องเจ็บตัว แต่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ

 

 สะกิดผิวหนังทดสอบภูมิแพ้

              การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คือ การตรวจวินิจฉัยโดยวิธีสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง วิธีนี้ทำได้ง่าย รวดเร็ว ให้ผลทันที และสิ้นเปลืองน้อย  ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกัน  โดยส่วนใหญ่  วิธีนี้ใช้เวลาเพียง 15 นาทีในการทราบผลการทดสอบค่ะ

 

ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

               การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังทำให้เราทราบว่าแพ้สารชนิดใด เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสารที่แพ้นั้นๆ ทำให้ผลการรักษาโรคดีขึ้น นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่ต้องทำการรักษาโดยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ทุกรายจำเป็นต้องได้รับการทดสอบภูมิแพ้ก่อนว่าแพ้สารชนิดใดเพื่อจะได้รักษาด้วยน้ำยาที่ตรงกับสารที่ผู้ป่วยแพ้ด้วยค่ะ

 

ทดสอบได้ตั้งแต่อายุเท่าไร

              โดยทั่วไปเราสามารถทดสอบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน และในผู้สูงอายุ อาจให้ผลลบลวงได้เพราะความไวของผิวหนังน้อย หากจำเป็นจริงๆ เราอาจต้องเจาะเลือดตรวจดูว่าแพ้อะไรบ้าง ซึ่งการเจาะเลือดเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาในการรอผลนาน จึงต้องพิจารณาทำในรายบุคคล

 

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ

              ในการทดสอบภูมิแพ้นั้นจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวก่อนที่จะทำการทดสอบ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรับประทานยาแก้แพ้ทุกวันตามหมอสั่ง ซึ่งเมื่อทำการทดสอบยาที่รับประทานจะไปกดอาการแพ้ทำให้ไม่เกิดผลในระหว่างทำการทดสอบ หรือให้ผลที่ไม่แน่นอน โดยหมอจะแยกเป็นข้อๆ เพื่อให้จำง่ายค่ะ

              1. งดยาแก้แพ้ก่อนมารับการทดสอบ 7 วัน

              2. ยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ เช่น ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัน ต้องงดก่อนมาทดสอบประมาณ 7 วัน

              3. ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ต้องแจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ให้แพทย์ที่จะทำการทดสอบทราบด้วย เพราะยาบางชนิดต้องงดก่อนทำการทดสอบ

              4. ยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนังก็มีผลกดปฏิกิริยาการทดสอบ ควรงดก่อนเช่นกันค่ะ

              5. ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทดสอบ

 

น้ำยาที่ใช้ในการทดสอบ

              น้ำยาที่ใช้ในการทดสอบเป็นสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้มาทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งมีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น สารสกัดจากไรฝุ่น ขนและรังแคของสัตว์ เช่น สุนัข แมว ม้า กระต่าย เป็ด ไก่ ห่าน นก เศษซากของแมลงที่อยู่ในบ้าน เช่น แมลงสาบ แมลงวัน เชื้อราชนิดต่างๆ เกสรพืช เช่น วัชพืช เฟิร์น ไม้ยืนต้น หญ้าต่างๆ อาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด โดยต้องเป็นน้ำยาที่มีขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐาน แยกแต่ละสารออกจากกันเป็นขวดๆ จึงจะให้ผลในการทดสอบที่เชื่อถือได้ ซึ่งในการทดสอบนั้นไม่จำเป็นต้องทดสอบการแพ้ต่อทุกๆสาร แพทย์อาจใช้ชนิดของน้ำยามากน้อยต่างกัน แล้วแต่อายุและประวัติอาการของผู้ป่วยแต่ละรายด้วยค่ะ

 

วิธีสะกิด (Skin prick test . SPT)

               มาถึงขั้นตอนการทดสอบด้วยวิธีสะกิดกันแล้วนะคะ เราจะเริ่มทดสอบโดยการกำหนดจุดที่จะหยดสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังบริเวณหลังหรือท้องแขนของผู้ป่วย  จากนั้นหยดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังในแต่ละจุดที่กำหนดไว้ แล้วใช้เข็มสะกิดเบาๆ ตรงบริเวณที่หยดน้ำยาโดยสะกิดให้ผ่านน้ำยาด้วยนะคะ ซึ่งการสะกิดนี้เราจะสะกิดเพียงเบาๆ ให้อยู่ในชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยไม่ให้มีเลือดออก อาจจะมีเจ็บๆ คันๆ เล็กน้อย หลังจากนั้นจึงซับน้ำยาส่วนเกินออกด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้า ขั้นตอนสุดท้ายคือทิ้งไว้อีก 15 นาทีแล้วรออ่านผลค่ะ

               หลังจาก 15 นาทีผ่านไป ถ้าผู้ป่วยแพ้สารใดก็จะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดงและคันบริเวณผิวหนังตรงตำแหน่งที่ทดสอบต่อสารนั้นๆ การใช้เข็มจริง วิธีสะกิด (SPT) นี้เป็นวิธีการทดสอบทางผิวหนังที่เป็นที่ยอมรับและแนะนำให้ใช้เป็นวิธีแรกในการตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้โดยทั่วไป เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีโอกาสเกิดปฏิกิริยาการแพ้ที่รุนแรงน้อย ทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อย น้ำยาที่ใช้ไม่ต้องนำมาเจือจางก่อน จึงทำให้น้ำยามีความคงทนดีกว่า และมีความสัมพันธ์กับอาการทางคลินิกมากกว่าการตรวจด้วยวิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal skin test)

              กรณีที่ไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือไม่สามารถหยุดยาแก้แพ้ได้ อาจใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับไอจีอี (IgE) ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ซึ่งให้ผลไม่ต่างจาการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง แต่ใช้ระยะเวลานานกว่าจะทราบผลและราคาค่อนข้างสูงกว่า