CONTENT VIEW

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้


ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีอาการตั้งแต่น้อยไปมาก จนมีผลทำให้รบกวนการนอน รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น  การเรียน การเล่นกีฬา และสมาธิลดลง

            โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรคที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทั่วโลก จากการสำรวจในประเทศไทยพบผู้ป่วยเด็กมีภาวะนี้ร้อยละ 38-59 และในผู้ใหญ่พบร้อยละ 15-22 โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีอาการตั้งแต่น้อยไปมาก จนมีผลทำให้รบกวนการนอน รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเรียน การเล่นกีฬา และรบกวนสมาธิ เป็นต้น

             จากการสำรวจเรื่องคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่มีระดับคุณภาพชีวิตแย่ลงถึงร้อยละ 90 จึงเห็นได้ว่าโรคนี้เป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุข ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งผู้ป่วยออกตามระดับความรุนแรงของโรคและระยะเวลาที่เป็น โดยระดับความรุนแรงของโรคแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ น้อย และปานกลางถึงมาก โดยยึดเอาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นหลักนะคะ กล่าวคือถ้ามีอาการจนรบกวนการนอน การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน เราจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงในระดับปานกลางถึงมากค่ะ

 

อาการและอาการแสดง

              นอกจากจะแบ่งผู้ป่วยตามความถี่ในการเกิดอาการและการรบกวนคุณภาพชีวิตแล้ว ยังสามารถแบ่งผู้ป่วยตามอาการแสดงของโรคเพื่อความสะดวกในการเลือกยารักษาด้วยค่ะ โดยแบ่งอาการออกเป็น 2 ชนิด คือ

 

ชนิดที่มีอาการคัดจมูก

              เป็นอาการแสดงที่พบบ่อยที่สุดประมาณร้อยละ 85 และมีผลรบกวนชีวิตค่อนข้างมาก โดยผู้ป่วยมักมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการตลอดทั้งวัน และแย่ลงตอนกลางคืนหรือตอนเช้า บางครั้งอาจมีน้ำมูกหรือเสมหะ  ไหลลงคอได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องกระแอมบ่อย หรือไอเรื้อรังจากเสมหะไหลลงคอ

              ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการคัดจมูกอาจมาด้วยอาการนอนกรน หรือมีปัญหาการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับได้ และถ้าเป็นนานๆ ทำให้ต้องอ้าปากหายใจจนมีผลทำให้รูปหน้าเปลี่ยนแปลง และการสบฟันผิดปกติได้ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บคอเรื้อรังจากอ้าปากหายใจหรือหายใจไม่เต็มอิ่ม

 

ชนิดที่มีอาการจามและน้ำมูก

               ผู้ป่วยจะมีอาการจาม น้ำมูกใส โดยน้ำมูกอาจจะไหลออกมาให้เห็นหรือไหลลงคอได้ค่ะ นอกจากนี้อาจมีอาการคันเพดานปาก คันคอ อาการเหล่านี้มักจะเป็นช่วงกลางวันและดีขึ้นช่วงกลางคืน มักพบอาการคันตา ตาแดงร่วมด้วย

 

อาการอื่นๆ ที่ไม่จัดอยู่ใน 2 ประเภทนี้

               ทั่วไปแล้วที่พบได้ไม่บ่อยและแพทย์มักมองข้าม ได้แก่ อาการปวดศีรษะซึ่งเป็นผลจากฮีสตามีนทำให้เกิดการอักเสบและขยายตัวของเส้นเลือด มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นไมเกรนมากกว่าคนที่ไม่เป็นถึง 14 เท่า นอกจากนี้ การวินิจฉัยโรคนี้ในเด็กเล็กจะค่อนข้างยาก เนื่องจากเด็กไม่สามารถบอกอาการได้ ทำให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่น เช่น ผู้ป่วยอาจมาด้วยเหนื่อยง่าย ดื่มนมได้น้อยลง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือบางรายมาด้วยการเรียนตกต่ำ จากการคัดจมูกแล้วทำให้ไม่สามารถนอนหรือรับประทานได้ดี

 

การรักษาโรคนี้

                ประกอบด้วยสิ่งสำคัญดังต่อไปนี้ คือ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเรื่องโรคและการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น การรักษาด้วยยา และการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งจะฉีดในกรณีที่หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นและใช้ยาเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น

 

ยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

                1. ยาต้านฮีสตามีน มีฤทธิ์ในการลดอาการจาม น้ำมูก คันจมูกและตา แต่ได้ผลน้อยในการลดอาการคัดจมูก

                2. ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ เป็นยาที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษาโรคนี้เนื่องจากมีคุณสมบัติลดการอักเสบของโพรงจมูก ซึ่งทำให้ป้องกันอาการได้เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยาชนิดนี้สามารถรักษาได้ทุกอาการของผู้ป่วย รวมทั้งลดอาการทางตาร่วมด้วย โดยยาจะออกฤทธิ์นานกว่ายาต้านฮีสตามีน คือ ประมาณ 7-8 ชั่วโมงหลังให้ยาครั้งแรก และมีประสิทธิภาพในการรักษาเต็มที่หลังจากให้ยาไป 2 สัปดาห์แล้ว นอกจากนี้ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มอลก่อนพ่นจมูกเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

                3. ยาต้านลิวโคไตรอีน ได้ผลในการรักษาใกล้เคียงกับยาต้านฮีสตามีน แต่ประสิทธิภาพน้อยกว่ายาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ ยาตัวนี้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมกับโรคหืด

 

การเลือกใช้ยา

               เลือกตามอาการสำคัญของผู้ป่วย

               ในผู้ป่วยที่มีอาการชนิดคัดจมูกเด่นให้ใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่ได้ผลดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคัดจมูกมาก การพ่นจมูกอาจไม่ได้ผล ดังนั้น อาจเพิ่มยาต้านฮีสตามีนร่วมกับยาคัดจมูกชนิดรับประทาน กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการจาม น้ำมูกเด่น อาจเริ่มการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีน

 

               เลือกตามความรุนแรงและระยะเวลาการเป็นโรค

               ในรายที่มีอาการรุนแรงปานกลางหรือมาก ให้เริ่มด้วยยาพ่นจมูกเป็นอันดับแรก หรือถ้าอาการรุนแรงมากอาจให้ร่วมกับยาต้านฮีสตามีน ถ้าผู้ป่วยมีอาการน้อยอาจเลือกใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งดังต่อไปนี้ ได้แก่ ยาต้านฮีสตามีน  ยาต้านฮีสตามีนร่วมกับยาคัดจมูก ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ หรือยาต้านลิวโคไตรอีนก็ได้ค่ะ  กรณีที่มีอาการ  นานๆ ครั้ง และไม่รุนแรงให้เริ่มการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีนเพียงอย่างเดียว

               หลังจากนั้นให้ติดตามอาการหลังการรักษาไป 2-4 สัปดาห์ ถ้าอาการดีขึ้นให้คงการรักษาเดิมไว้อย่างน้อย 1 เดือนแล้วค่อยๆ ลดยา แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ทบทวนการใช้ยาว่าสม่ำเสมอหรือไม่ ร่วมกับมองหาภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ ถ้าไม่มีภาวะเหล่านี้ให้ปรับเพิ่มยาได้ตามอาการของผู้ป่วย

               โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อ (ไซนัสอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ) โดยพบว่าร้อยละ 92 ของผู้ป่วยโรคหืด และร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนัง เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังพบว่าถ้าเรารักษาโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดก็จะทำให้อาการของโรคหืดดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหลักสำคัญในการรักษาโรคนี้คือ การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และใช้ยาสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรระวังภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น ไซนัสอักเสบค่ะ