CONTENT VIEW

เป็นโรคหืดก็ออกกำลังกายได้


การวางแผนออกกำลังกายและทำเป็นประจำอย่างเหมาะสมจะส่งผลดีต่อการเยียวยาผู้ป่วยโรคหืดในระยะยาว โดยเฉพาะคนที่มีอาการหืดเล็กน้อยถึงปานกลาง  เพราะถ้าร่างกายแข็งแรง  ทั้งปอดและหัวใจก็ไม่ต้องทำงานหนักเกินไปในการหายใจเข้า-ออก

          แม้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นและช่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคหืดแล้วการออกกำลังกายอาจจะเป็นสาเหตุให้สุขภาพแย่ลง หรือเป็นสาเหตุให้มีอาการของโรคหืดมากขึ้นก็ได้ ดังนั้นการวางแผนออกกำลังกายและทำเป็นประจำอย่างเหมาะสมจะส่งผลดีต่อการเยียวยาผู้ป่วยโรคหืดในระยะยาว โดยเฉพาะคนที่มีอาการหืดเล็กน้อยถึงปานกลาง  เพราะถ้าร่างกายแข็งแรง  ทั้งปอดและหัวใจก็ไม่ต้องทำงานหนักเกินไปในการหายใจเข้า-ออก หมอจึงมีเคล็ดลับการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหืดมาฝากดังนี้ค่ะ

          1.  รู้ว่าเวลาใดควรงดออกกำลังกาย  โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคติดเชื้อไวรัส หรือเมื่อมีปริมาณละอองเกสรดอกไม้ในอากาศมาก  หรือต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเกินไปหรือที่อุณหภูมิติดลบ  วิธีแก้ไขคือ  ถ้าต้องอยู่ในสภาพหนาวจัด ขณะออกกำลังกายควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเพื่อให้ลมหายใจอุ่น

           2. สูดหรือรับประทานยาให้เรียบร้อย  กรณีที่มีภาวะหืดกำเริบจากออกกำลังกายให้สูดยาขยายหลอดลมก่อนออกกำลังกาย 15 นาทีก็สามารถไปออกกำลังกายได้ตามปกติแล้วค่ะ   

          3. เริ่มออกกำลังกายช้าๆ  อย่างค่อยเป็นค่อยไป  การอบอุ่นร่างกายก่อนประมาณ 5-10 นาทีจะช่วยคลายกล้ามเนื้อหน้าอกและขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น  ทำให้หายใจสะดวกขึ้น  แล้วค่อยๆ เพิ่มจังหวะการออกกำลังกายอย่างช้าๆ จนถึงระดับที่ต้องการ

          4.  เลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสม  ไม่ควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องโดยไม่พักเป็นเวลานาน  เช่น  วิ่งระยะไกล  จะทำให้อาการกำเริบได้ง่าย  จึงควรเปลี่ยนมาออกกำลังกายแบบที่ใช้พลังงานช่วงสั้นๆ แทน  เช่น  การเดิน  ตีกอล์ฟ  หรือปั่นจักรยาน

 

เคล็ดลับการออกกำลังกายที่ถูกต้องสำหรับผู้ป่วยโดยไม่ส่งผลให้เกิดอาการของโรคหืด

1.    ควรใช้ผ้าพันคอ พันตั้งแต่คอจนถึงปาก และหายใจผ่านทางจมูก เมื่อต้องไปออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอากาศเย็นและแห้ง

2.    หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเมื่อมีมลพิษทางอากาศสูง

3.    หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใกล้สนามหญ้าที่เพิ่งตัดหญ้า

4.    ต้องอบอุ่นร่างกาย (warm up) ทุกครั้งก่อนเริ่มออกกำลังกาย และทำการผ่อนคลายร่างกาย หรือคูลดาวน์ (cool down) ทุกครั้งเมื่อออกกำลังกายเสร็จ

5.    ผู้ป่วยโรคหืดควรเล่นกีฬาที่ไม่ทำให้อาการของโรคหืดแย่ลง เช่น ว่ายน้ำ หรือเบสบอล

6.    ผู้ป่วยโรคหืดที่ยังไม่สามารถคุมอาการได้ดี ควรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่น บาสเกตบอล วิ่ง หรือฟุตบอล

            เห็นไหมคะว่าเพียงเคล็ดลับง่ายแค่นี้ก็จะทำให้เราสามารถออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่แข็งแรงเหมือนเช่นคนทั่วไป  อย่ารอช้า...มาออกกำลังกายสลายโรคกันเถอะค่ะ