CONTENT VIEW

กินอยู่อย่างไรห่างไกลภูมิแพ้


“เด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้เช่นกัน  การให้นมแม่เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กเหล่านี้ได้   ข้อควรระวังคือ อาหารที่แม่รับประทานระหว่างช่วงที่   ให้นมลูกอาจส่งผ่านทางน้ำนมและก่อให้เกิดอาการแพ้ในลูกได้เช่นกัน”

 

          ทุกคนทราบดีว่าอาหารการกินเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต  ปัญหาการแพ้อาหารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก  อาหารบางประเภทที่เราคิดว่ามีส่วนผสมไม่กี่ชนิด  อาจมีขั้นตอนการปรุงและส่วนผสมที่เราไม่ทราบ ซึ่งส่วนประกอบนั้นๆ อาจมีผลทำให้เกิดอาการแพ้ได้ 

          ปัจจัยของการเกิดโรคภูมิแพ้นั้นมีทั้งปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ คือ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม และปัจจัยที่เราสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ นั่นคือ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง  การหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ในเด็กแรกเกิดที่มีพ่อแม่หรือประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคภูมิแพ้สามารถลดอาการของโรคในเด็กได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร

 

กินอย่างไรจึงป้องกันภูมิแพ้

          เด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพ่อ แม่ หรือพี่น้องสายตรงเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีความเสี่ยงสูงที่เป็นโรคภูมิแพ้ด้วยเช่นกันซึ่งเป็นผลจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น การให้นมแม่จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เป็นโรคภูมิแพ้ได้ แต่ข้อควรระวังคือ อาหารที่แม่รับประทานระหว่างช่วงที่ให้นมลูกอาจส่งผ่านทางน้ำนมและก่อให้เกิดอาการแพ้ในลูกได้เช่นกัน เช่น ถ้าแม่ดื่มนมวัว อาจมีส่วนกระตุ้นให้ลูกแพ้นมวัวได้ค่ะ  จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีอาการของโรคภูมิแพ้ร่วมกันหลายชนิด  เช่น เด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังก็อาจพบว่ามีการแพ้อาหารร่วมด้วย ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะสามารถลดการเกิดแพ้อาหารได้  ในเด็กเล็กนอกจากการดื่มนมแม่แล้วการดื่มนมสูตรพิเศษ (extensively hydrolyzed  formula หรือ partially hydrolyzed formula)  ซึ่งเป็นนมที่ผ่านการสลายโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้มาแล้ว  จะลดความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้ได้  นอกจากนี้การดื่มนมที่ผสมจุลินทรีย์สุขภาพ (probiotic bacteria) เช่น แลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยลดการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้ค่ะ

           สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่กังวลว่าลูกที่เกิดมาจะป่วยเป็นภูมิแพ้เหมือนพ่อแม่หรือไม่  หมอขอแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยกันดูแลเรื่องอาหารของลูกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ดังนี้ค่ะ

·       ในช่วงระยะตั้งครรภ์และให้นมลูก  แม่ต้องระวังเรื่องการรับประทานอาหารที่มักทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อย โดยไม่รับประทานอาหารที่มีแนวโน้มให้เกิดอาการแพ้ในปริมาณมากเกินไปหรือบ่อยเกินไป เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ทารกในครรภ์แพ้อาหารชนิดนั้นได้

·       ให้ลูกดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน หรือกรณีที่แม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้   ควรเลี้ยงลูกด้วยนมสูตรพิเศษจนถึงอายุ 1 ปี

·       ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมวัวรวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบไปจนอายุครบ 1 ปี

·       ไม่แนะนำให้ดื่ม นมแพะ  หรือนมแกะ แทนนมวัว เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว

·       ควรให้อาหารเสริมเมื่อเด็กอายุ 4-6 เดือน โดยแนะนำให้เด็กได้รับอาหารเสริมทีละชนิดและให้สังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ภายในหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่จะมีการให้อาหารเสริมชนิดใหม่

 

           สำหรับเด็กที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง  ก็ควรดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารบางอย่างที่แพ้ง่าย  การรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ การรับประทานอาหารที่มีสารที่ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและการป้องกันภูมิแพ้ในร่างกาย ได้แก่ สังกะสี วิตามินเอ ซีลีเนียม และนิวคลีโอไทด์ และ การบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวบางชนิด (DHA) ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ค่ะ

 

อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างไรจึงป้องกันภูมิแพ้

          นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว  สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราก็มีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้มากพอๆ กับการรับประทานอาหารค่ะ  ผู้ป่วยควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากกลิ่นและควันบุหรี่ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้  ดังต่อไปนี้ค่ะ

         ไรฝุ่น เป็นศัตรูตัวร้ายที่แฝงตัวอยู่ในห้องนอน เราจึงควรจัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมีพรม ตุ๊กตา และผ้าม่านในห้องนอนของเรา ต้องซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และคลุมที่นอน หมอน หมอนข้าง ด้วยผ้าใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษซึ่งสามารถกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นลอดผ่านขึ้นมาได้

          แมลงสาบ พยามยามขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบ โดยใส่ขยะและเศษอาหารในถุงหรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดทุกครั้งนะคะ หรืออาจใช้ยาฆ่าแมลงสาบหรือกับดักแมลงสาบ เพื่อไม่ให้มีแมลงสาบมาเดินเพ่นพ่านในบริเวณบ้านของเราค่ะ

          สัตว์เลี้ยง เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขนต่างๆ เช่น สุนัข แมว กระต่าย หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกบ้านและอาบน้ำทุกสัปดาห์ และที่สำคัญต้องใช้เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องกรองอากาศเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอากาศภายในบ้านจะไม่มีขนสัตว์ปลิวฟุ้งให้แพ้ระคายเคืองค่ะ

          เกสรหญ้า ถ้ามีสมาชิกในบ้านแพ้เกสรหญ้า ควรตัดหญ้าและกำจัดวัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆ เพื่อลดจำนวนเกสรหญ้า  อีกทั้งไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้งไว้ในบ้านด้วยนะคะ สำหรับในช่วงที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตูหน้าต่างและใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ เพราะละอองเกสรเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น  หรือถ้าจะทำกิจกรรมกลางแจ้งควรทำในช่วงเช้า เพราะละอองเกสรจะปลิวอยู่ในอากาศมากช่วงตอนเย็นค่ะ

          เชื้อรา ในช่วงปลายปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ สร้างความเสียหายมากมาย และสิ่งที่หลงเหลือไว้จากสภาพน้ำท่วมขังคือ “เชื้อรา” ที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้ป่วยภูมิแพ้ นอกจากนี้ไม่ควรปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณบ้าน หมั่นกำจัดใบไม้ร่วงที่ทับถมซึ่งเป็นบ่อเกิดเชื้อรา ป้องกันการเกิดความอับชื้นโดยขจัดแหล่งน้ำขัง  เปิดห้องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและแสงแดดส่องถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องน้ำและห้องครัวค่ะ เพราะเป็นห้องที่มีความชื้นสูงจากการใช้ห้องน้ำและการประกอบอาหาร เราจึงต้องหมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว ผนังกระเบื้อง เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น ด้วยน้ำยาไลซอลหรือคลอรอกซ์ เพื่อขจัดเชื้อราตัวร้ายให้หมดไปจากบ้านของเรากันนะคะ

 

ใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อเป็นภูมิแพ้

          นอกจากเรื่องอาหารและเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว  ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ยังควรหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ ที่อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักมีอาการแย่ลงเมื่อมีภาวะเครียดและอดนอน ดังนั้นการออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ในกรณีมีอาการหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย การพ่นยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกาย 15-30 นาทีจะช่วยป้องกันการหอบระหว่างออกกำลังกายได้ค่ะ

 

เคล็ดลับห่างไกลภูมิแพ้

1.    ออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

2.    หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ ที่อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบ ได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูปและฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ

3.  ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ควรซื้อยามาใช้เอง

 

 

รับประทานอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้

          เนื่องจากโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีการศึกษาที่แสดงว่า สิ่งแวดล้อมและอาหารเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้นการกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ตั้งแต่แรกในเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูง) และการให้เด็กดื่มนมมารดาจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีโรคภูมิแพ้ร่วมกันหลายชนิด เช่นเด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนัง อาจพบมีการแพ้อาหารร่วมด้วย

 

           ความเชื่อสมัยก่อนมักจะเริ่มให้เด็กทารกรับประทานกล้วยน้ำว้าหรือข้าวตอนอายุเพียง 2-3 เดือน ซึ่งทารกในวัยนี้ระบบการย่อยอาหารยังไม่พัฒนาได้ดีเท่าผู้ใหญ่ การเริ่มรับประทานในวัยนี้อาจทำให้ทารกมีปัญหาเรื่องของระบบทางเดินอาหารได้ โดยทั่วไปแล้วทางการแพทย์จะแนะนำว่าควรให้อาหารเสริมแก่เด็กทารกเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป หมอแนะนำให้เด็กเริ่มรับประทานอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่าภายในหนึ่งสัปดาห์ที่รับประทานอาหารชนิดนั้นมีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่ อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด กล้วยน้ำว้า ฟักทอง น้ำต้มหมู น้ำต้มไก่ ผักใบเขียว หากสังเกตดูแล้วว่าไม่มีอาการแพ้อาหารชนิดนั้นก็ลองเปลี่ยนชนิดอาหารที่ละอย่างไปเรื่อยๆ โดยสังเกตอาหารที่ให้ว่ามีอาการแพ้หรือไม่

นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง เชื้อรา แมลงสาบ ตั้งแต่ขวบปีแรก ร่วมกับการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านดังนี้ค่ะ

• ใช้เครื่องเรือนให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน ไม่ใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้เก้าอี้นอนหรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่นหรือขนสัตว์ ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ ควรคลุมที่นอนและหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น

• ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน

• ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

• ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ

• ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน

• พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน

• จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ

           หลังจากที่จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านแล้ว ก็อย่าลืมระวังไม่ให้เด็กได้รับควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ควันไฟ หรือฝุ่นละออง จากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็จะสามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้ค่ะ